พิธีบัพติศมาในน้ำ – คำถามและคำตอบ 6 ประการ

(English Version: “Water Baptism – 6 Key Questions Asked And Answered”)
โดยหลักการพื้นฐานแล้ว มีพระราชบัญญัติ/พิธีการสองอย่างที่คริสเตียนทุกคนต้องปฏิบัติตามหลังจากที่ยอมรับพระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของตน ข้อแรกคือ การรับบัพติศมาในน้ำ และข้อที่สองคือการเข้ารับพิธีมหาสนิทของพระเจ้าซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพิธีศีลระลึก ข้อหนึ่งแตกต่างจากข้อสองคือพิธีบัพติศมาในน้ำเป็นการกระทำครั้งเดียว แต่การเข้าร่วมพิธีมหาสนิทเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง การสรุปภาพรวมโดยย่อของพิธีแรกจะช่วยตอบคำถามพื้นฐานสองสามข้อเกี่ยวกับพิธีนั้น ซึ่งก็คือ บัพติศมาในน้ำ
บัพติศมาในน้ำเป็นพระบัญญัติข้อแรกและสำคัญที่สุดหลังจากการกลับใจใหม่ของผู้เชื่อ – กล่าวคือ หลังจากที่กลับใจจากบาปและวางใจในพระเยซูคริสต์ แม้ว่าพระคัมภีร์จะชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีการไม่เชื่อฟังพระบัญญัติที่ตรงไปตรงมานี้อยู่มาก ตามที่ครูสอนพระคัมภีร์ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ถึงสาเหตุหลักของการไม่เชื่อฟังนี้คือ:
-
- ความไม่รู้: คนไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน เนื่องจากพระบัญญัติข้อนี้ไม่ได้รับการสอนให้พวกเขาเข้าใจ
- ความเย่อหยิ่งทางจิตวิญญาณ: การรอไม่รับบัพติศมาในที่สาธารณะหลังจากรับเชื่อเป็นเวลานานบ่งชี้ถึงการขาดความเข้าใจหรือแสดงถึงการไม่เชื่อฟังเป็นเวลานาน เนื่องจากการไม่เชื่อฟังเช่นนี้ต้องมีความถ่อมใจเพื่อจะรับบัพติศมา ทำให้พวกเขาอายจึงไม่ต้องการรับบัพติศมา น่าเสียดายที่มีหลายคนยังคงอยู่ในคนกลุ่มนี้ที่ยอมอับอายต่อพระพักตร์พระเจ้าเยซูในวันพิพากษามากกว่าที่จะรู้สึกอับอายต่อหน้าโลกในปัจจุบัน
- ทัศนคติแบบสบายๆ: หลายคนมีทัศนคติแบบเรื่อยๆ สบายๆ ต่อการรับบัพติศมา กลุ่มคนดังกล่าวไม่ได้ต่อต้านการรับบัพติศมา เพียงแต่พวกเขาไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นทัศนคติที่บอกว่า “ยังมีปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ ที่ต้องจัดการในขณะนี้ บางทีสักวันหนึ่งเมื่อฉันมีเวลา ฉันค่อยรับบัพติศมาก็ได้”
- ความกลัวการแสดงความเชื่อ: บางคนกลัวที่จะแสดงความเชื่อของตนในที่สาธารณะเพราะพวกเขากำลังทำผิดบาปในชีวิตของตน และเมื่อยอมรับบัพติศมาในที่สาธารณะ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองกำลังแสดงตนเป็นคนหน้าซื่อใจคด หรือบางคนยังกลัวว่า “คนอื่นจะคิดอย่างไร” (ครอบครัว, สังคมรอบข้าง ฯลฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีความเสี่ยงที่ครอบครัวจะมีปัญหาเนื่องจากการรับบัพติศมา พวกเขามักจะยังไม่รับบัพติศมา
- ไม่ใช่คริสเตียนแท้: ในบางกรณี บุคคลนั้นไม่ใช่ผู้เชื่อเลย พวกเขาไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงไม่มีความเชื่อมั่นหรือร้อนรนที่จะเชื่อฟังพระบัญชานี้ พวกเขาอาจยังมาคริสตจักรและเข้าร่วมพิธีมหาสนิทด้วย แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพระคริสต์อย่างแท้จริง
ผมแน่ใจว่าเราสามารถเพิ่มเหตุผลอื่นๆ ได้อีกว่าทำไมคนจึงไม่รับบัพติศมา อย่างไรก็ตาม จุดเน้นของบทความนี้คือการกล่าวถึงเหตุผลแรก – นั่นคือ ความไม่รู้ ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้น เราจะใช้การถามและตอบคำถามพื้นฐาน 6 ข้อจากพระคัมภีร์ แต่ยังเป็นความรับผิดชอบของผู้อ่านที่จะพิจารณาความจริงเหล่านี้ด้วยการอธิษฐานและการเชื่อฟังปฏิบัติตาม
ให้เรามาเริ่มกันด้วยคำถามแรก
1. ทำไมเราต้องรับบัพติศมาในน้ำ
ประการแรก เราอ่านในมัทธิว 28:19 ว่าพระเยซูทรงบัญชาคริสตจักรให้ “ไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” วลี “ในพระนามของ” ใช้ในความหมายเอกพจน์ [ไม่ใช่ใน “บรรดาพระนาม” ของ] การใช้คำว่า “พระนาม” ในลักษณะเอกพจน์นี้แสดงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ นี่ไม่ใช่สูตรที่จะนำมาใช้ซ้ำๆ ในการรับบัพติศมาหลายรอบ แต่หมายความว่าผู้เชื่อได้รับการระบุตัวตนทางวิญญาณกับพระเจ้าองค์เดียวที่ดำรงอยู่เป็นสามบุคคล
ประการที่สอง เราอ่านในกิจการ 2:38 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ใช้ได้กับทุกคนว่า: “จงกลับใจเสียใหม่และรับบัพติศมาในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน เพราะว่าพระเจ้าทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย และท่านจะได้รับของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์” บัญชานั้นชัดเจน: ประการแรก บุคคลนั้นต้อง “กลับใจจากบาปของตน” [เพราะการได้ยินและตอบสนองต่อพระกิตติคุณด้วยความเชื่อ] ประการที่สอง พวกเขาต้อง “รับบัพติศมา” ลำดับนั้นชัดเจน: บัพติศมาต้องเกิดขึ้นตามหลังการกลับใจอย่างแท้จริงและมีความเชื่อในพระเยซู ดังนั้น เราต้องรับบัพติศมาในน้ำ เพราะเป็นคำสั่ง ไม่ใช่ทางเลือก!
2. บัพติศมาในน้ำมีความสำคัญอย่างไร
การรับบัพติศมาในน้ำเป็นการแสดงออกภายนอกที่แสดงถึงภาพของการเกิดใหม่ภายใน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการกลับใจใหม่อย่างแท้จริง บัพติศมาเป็นการแสดงออกทางกายภาพของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทางจิตวิญญาณภายใน
ในโรม 6:3-5 ให้เรารู้ความจริงเหล่านี้ “3 ท่านไม่รู้หรือว่า เราทั้งหลายที่ได้รับบัพติศมาเข้าในพระเยซูคริสต์ ก็ได้รับบัพติศมานั้นเข้าในความตายของพระองค์ 4 เหตุฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยการรับบัพติศมาเข้าส่วนในความตายนั้น เหมือนกับที่พระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย โดยเดชพระรัศมีของพระบิดาอย่างไร เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยอย่างนั้น 5 เพราะว่าถ้าเราเข้าสนิทกับพระองค์แล้วในการตายอย่างพระองค์ เราก็จะเป็นขึ้นมาอย่างพระองค์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายด้วย” ความจริงทางจิตวิญญาณภายในที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการกลับใจใหม่นั้นแสดงให้เห็นได้ดีที่สุดผ่านทางการรับบัพติศมาในน้ำ
การรับบัพติศมาในน้ำเป็นภาพที่มองเห็นได้ของความเป็นหนึ่งทางจิตวิญญาณของเรากับการตาย การฝัง และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความหวังที่เรามีอีกด้วย: เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงฟื้นขึ้นเพื่อดำรงชีวิตหลังความตาย -เรา-ที่รวมเป็นหนึ่งกับพระองค์ก็จะฟื้นขึ้นเพื่อดำรงชีวิตในอนาคตเช่นกัน
3. ความสำคัญของการรับบัพติศมาในน้ำของพระเยซูคืออะไร
การรับบัพติศมาของพระเยซู [มัทธิว 3:13-17] เป็นการกระทำในที่สาธารณะที่แสดงถึงการที่พระองค์เชื่อมโยงกับคนบาปที่พระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อพวกเขาและฟื้นคืนพระชนม์ในภายหลัง พระเยซูทรงทำตาม “ความชอบธรรมทุกประการ” [มัทธิว 3:15] ไม่เพียงแต่เสด็จไปถูกตรึงที่ไม้กางเขนเพื่อบาปของเราเท่านั้น แต่ยังทรงดำเนินชีวิตที่เชื่อฟังอย่างสมบูรณ์แบบซึ่งเราไม่สามารถดำเนินชีวิตแบบนั้นได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมความเชื่อในพระคัมภีร์ที่แท้จริงจึงสอนเกี่ยวกับความรอดโดยพระคุณเท่านั้น เนื่องจากพระเยซูเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่ทำตามความชอบธรรมทั้งหมด เราไม่ได้รับความรอดโดยการกระทำของเรา แต่ได้รับความรอดโดยวางใจในพระเยซูเท่านั้น ซึ่งทรงทำทุกอย่างเพื่อเรา
ดังนั้น การรับบัพติศมาในน้ำของพระเยซูจึงเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของความจริงที่จะเกิดขึ้น (ซึ่งได้สำเร็จแล้วในตอนนี้): คือการสิ้นพระชนม์เพื่อเราและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์เป็นหลักฐานว่าพระเจ้าทรงยอมรับการเสียสละของพระคริสต์
น่าสนใจที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระบิดาทั้งหมดได้โดยการรับบัพติศมา พระเยซูไม่ได้เลือกสิ่งที่จะเชื่อฟังและสิ่งที่จะไม่เชื่อฟัง พระองค์เต็มใจและยินดียอมรับพระบัญญัติของพระบิดาทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สมบูรณ์แบบของพระองค์
4. วิธีการรับบัพติศมาในน้ำคืออะไร
ตรงนี้เป็นจุดที่มีความสับสนและเห็นต่างกันมาก มีความไม่เหมือนกันในวิธีการรับบัพติศมา (เช่น โดยการจุ่มตัวลงในน้ำเท่านั้นหรือเพียงสามารถพรมน้ำได้ เป็นต้น) อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการรับบัพติศมา ให้เราพิจารณาจากตัวพระคัมภีร์เองว่าบุคคลในพระคัมภีร์รับบัพติศมากันอย่างไร
บัพติศมาในพันธสัญญาใหม่ระบุด้วยคำภาษากรีกสองคำคือ: Bapto และ Baptizo ตามพจนานุกรมของพันธสัญญาใหม่ Bapto แปลว่า “จุ่ม” และชาวกรีกใช้เพื่อหมายถึงการย้อมเสื้อผ้าหรือการตักน้ำโดยการจุ่มภาชนะให้มิดลงในภาชนะอีกใบที่เต็มไปด้วยน้ำ อีกคำหนึ่งคือ Baptizo แปลว่า “จุ่มลงไปจนมิด” หรือ “จมน้ำ”
การเข้าใจความหมายของคำนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าการบัพติศมาในพันธสัญญาใหม่ต้องเป็นหรือหมายถึง “การจุ่มตัว, จมตัว, จมน้ำมิด, จุ่มตัวลงหมด” ในพระคัมภีร์เราไม่เห็นรูปแบบวิธีการรับบัพติศมาแบบอื่นใด ยกเว้นการจุ่มตัวมิดลงในน้ำเท่านั้น (เราไม่เห็นว่ามีการพรมน้ำหรือแต้มน้ำบนหน้าผาก) เมื่ออ้างอิงถึงคนรับบัพติศมาในพระคัมภีร์ล้วนแต่เป็นการจุ่มลงมิดในน้ำทั้งสิ้น
พระเยซูเจ้าเองก็ทรงรับบัพติศมาโดยการจุ่มตัวลงมิดในน้ำ! เราอ่านในมัทธิว 3:16 ว่า “เมื่อพระเยซูทรงรับบัพติศมาแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นจากน้ำ” วลี “เสด็จขึ้นจากน้ำ” แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ทรงรับบัพติศมาโดยการจุ่มตัวมิดลงในน้ำ และพระองค์ก็ทรงรับบัพติศมาเมื่อพระองค์เป็นผู้ใหญ่แล้วด้วย!
ผู้คนที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำพิธีบัพติศมา “ได้รับบัพติศมาจากท่านในแม่น้ำจอร์แดน” [มัทธิว 3:6] ในยอห์น 3:23 กล่าวถึงการที่ยอห์นให้บัพติศมาโดยการจุ่มตัวลงในน้ำอีกครั้ง เราเห็นว่า “ยอห์นก็ให้บัพติศมาอยู่ที่อายโนนใกล้หมู่บ้านสาลิมเหมือนกัน เพราะที่นั่นมีน้ำมาก และผู้คนก็พากันมารับบัพติศมา” จะไม่จำเป็นต้อง “มีน้ำมาก” หากบัพติศมาด้วยวิธีอื่นอกจากการจุ่มตัวลงในน้ำ!
คริสตจักรยุคแรกก็รับบัพติศมาในน้ำโดยการจุ่มตัวลงในน้ำเช่นกัน ในกิจการ 8:38 เราเห็นว่าฟีลิป หนึ่งในอัครสาวกสิบสองคนให้บัพติศมาแก่ขันทีชาวเอธิโอเปีย และข้อความอ่านว่า “ฟีลิปและขันทีลงไปในน้ำ และฟีลิปก็ให้บัพติศมาแก่เขา”
เพียงแค่ดูข้อพระคัมภีร์สองสามข้อนี้ เราก็จำเป็นต้องยอมรับว่าการจุ่มตัวลงในน้ำเป็นวิธีการ ปฏิบัติ ของตัวอย่างการรับบัพติศมาในน้ำในพันธสัญญาใหม่ การจุ่มตัวลงในน้ำเท่านั้นที่สอดคล้องกับความจริงทางจิตวิญญาณ ซึ่งก็คือในช่วงเวลาวินาทีแห่งความรอด ผู้เชื่อจะจุ่มตัวลงในน้ำร่วมกับพระคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความตาย การฝัง และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์
การพรมน้ำหรือแต้มน้ำบนหน้าผากไม่ใช่วิธีการรับบัพติศมาในน้ำตามอย่างพระคัมภีร์ มันมีต้นกำเนิดมาจากคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิก อย่างไรก็ตาม แม้แต่คริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกก็ยังใช้วิธีจุ่มตัวลงในน้ำจนถึงราวศตวรรษที่ 13 แต่น่าเสียดายที่คริสตจักรนิกายโปรเตสแตนต์บางแห่งได้สืบทอดวิธีการพรมน้ำของคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกในภายหลัง (เช่น คริสตจักรเพรสไบทีเรียน, คริสตจักรเมธอดิสต์, คริสตจักรลูเทอรัน เป็นต้น)
5. อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างบัพติศมาในน้ำกับความรอด
บัพติศมาในน้ำช่วยให้เรารับความรอดหรือไม่? เมื่อเราพิจารณาคำสอนโดยรวมของพันธสัญญาใหม่ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรอดคือ ความรอดนั้นเกิดขึ้นโดยพระคุณเท่านั้น ผ่านความเชื่อในพระเยซูเท่านั้น เมื่อบุคคลนั้นกลับใจจากบาปของตนและหันมาหาพระเยซูแต่ผู้เดียวเพื่อความรอด (ดู มาระโก 1:15; ยอห์น 3:16; ยอห์น 5:24; กิจการ 20:21; โรม 4:5; โรม 10:9-13; เอเฟซัส 2:8-9; ทิตัส 3:5) การวางใจในพระเยซูว่าทรงเป็นพระเจ้าและพระผู้ไถ่เท่านั้นจึงจะช่วยคนให้รอดได้ การแสดงความเชื่อต่อหน้าสาธารณชนผ่านพิธีบัพติศมาในน้ำยืนยันถึงความจริงของการเชื่อในพระเยซูที่เกิดขึ้นแล้วอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การรับบัพติศมาในน้ำมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความรอดในข้อพระคัมภีร์บางข้อ เพราะความรอดที่แท้จริงจะก่อให้เกิดการเชื่อฟังเสมอ และขั้นแรกของการเชื่อฟังสำหรับคริสเตียนคือการรับบัพติศมา กล่าวคือประกาศความเชื่อในพระคริสต์ต่อสาธารณชน ด้านล่างนี้คือตัวอย่างบางส่วนของคนที่เชื่อฟังคำสั่งนี้โดยไม่ชักช้า ดังที่พบในหนังสือกิจการ:
1. วันเพ็นเทคอสต์เมื่อคริสตจักรถือกำเนิด:
กิจการ 2:41 กล่าวว่า “คนทั้งหลายที่รับคำของเปโตร [คำเทศนาเรื่องความรอด] ด้วยความยินดีก็รับบัพติศมา ในวันนั้น…”
ดังที่คุณเห็น ไม่มีการล่าช้าในเรื่องของการรับบัพติศมา หลังจาก ยอมรับข่าวสารแห่งความรอด ในวันเดียวกันนั้นเอง พวกเขาก็รับบัพติศมา
2. การตอบสนองของชาวสะมาเรียต่อคำเทศนาของฟีลิป:
กิจการ 8:12 กล่าวว่า “แต่เมื่อฟีลิปได้ประกาศเรื่องอาณาจักรของพระเจ้าและพระนามแห่งพระเยซูคริสต์แล้ว คนทั้งหลายก็เชื่อ และรับบัพติศมาทั้งชายและหญิง”
บัพติศมาเกิดขึ้นทันที หลังจาก ที่พวกเขา “เชื่อ” ข่าวสารที่ฟีลิปประกาศ: “ข่าวดีเรื่องอาณาจักรของพระเจ้าและพระนามของพระเยซูคริสต์”
3. การรับบัพติศมาของโครเนลิอัสและครอบครัวของเขา
เมื่อเปโตรเทศนาพระกิตติคุณแก่โครเนลิอัสและครอบครัวของเขา พวกเขาก็รับบัพติศมาทันที หลังจาก ยอมรับข่าวประเสริฐ ใน กิจการ 10:47-48 บอกเราว่า เปโตรยืนยันว่าพวกเขาจำเป็นต้องรับบัพติศมา เนื่องจากพวกเขายอมรับข่าวประเสริฐ
“47 ‘ใครอาจจะห้ามคนเหล่านี้ที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เหมือนเรา โดยมิให้เขารับบัพติศมาด้วยน้ำได้’ 48 เปโตรจึงสั่งให้เขารับบัพติศมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า”
4. การรับบัพติศมาของลิเดียและผู้คุมคุกที่เมืองฟีลิปปี
เราอ่านใน กิจการ 16:14-15 ว่าพระเจ้าทรงประทานความรอดแก่หญิงคนหนึ่งชื่อลิเดียได้อย่างไร และเธอรับบัพติศมาทันทีได้อย่างไร:
“14…องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเปิดใจของนางให้สนใจในถ้อยคำซึ่งเปาโลได้กล่าว 15 เมื่อหญิงคนนั้นกับทั้งครอบครัวของนางได้รับบัพติศมาแล้วจึงอ้อนวอนเราว่า ‘ถ้าท่านเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นคนสัตย์ซื่อต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเข้ามาพักอาศัยในบ้านของข้าพเจ้าเถิด’ และนางได้วิงวอนจนเราขัดไม่ได้”
สังเกตข้อความระบุชัดเจนว่าบัพติศมาของเธอเกิดขึ้นหลังจากที่เธอตอบสนองต่อข่าวสารของเปาโล
ต่อมาในบทเดียวกัน เราเห็นว่าพระเจ้าทรงประทานความรอดแก่ผู้คุมคุกที่รับผิดชอบดูแลเปาโลอยู่ได้อย่างไร และเขาได้รับบัพติศมาอย่างไรหลังจากที่รับเชื่อต่อข่าวประเสริฐ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ถูกบันทึกไว้ในกิจการ 16:16-34
ก่อนอื่น ผู้คุมคุกถามเปาโลและสิลาสว่า “30 ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องทำอย่างไรจึงจะรอดได้?” ดังนั้น, “31 เปาโลกับสิลาสจึงกล่าวว่า ‘จงเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์เจ้า และท่านจะรอดได้ – ทั้งครอบครัวของท่านด้วย’ 32 ท่านทั้งสองจึงกล่าวสั่งสอนพระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้นายคุก และคนทั้งปวงที่อยู่ในบ้านของเขาฟัง” พระคัมภีร์กล่าวชัดเจนว่าทั้งเปาโลและสิลาสกล่าวสอนพระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้า “ต่อนายคุกและคนทั้งปวงที่อยู่ในบ้านเขาฟัง”
ประการที่สอง เราอ่านเจอดังนี้: “33 ในกลางคืนชั่วโมงเดียวกันนั้นเอง นายคุกจึงพาเปาโลกับสิลาสไปล้างแผลที่ถูกเฆี่ยน และในขณะนั้นนายคุกก็ได้รับบัพติศมาพร้อมทั้งครัวเรือนของเขา”
เราอาจถามว่า “ข้อความไม่ได้บอกว่าพวกเขารับเชื่อก่อนรับบัพติศมา” แต่ถ้าเราพิจารณาข้อถัดไปอย่างใกล้ชิด เราก็จะได้คำตอบว่าพวกเขาเชื่อก่อนรับบัพติศมา “34 ผู้คุมพาพวกเขาเข้าไปในบ้านของตนและจัดอาหารให้พวกเขา; ผู้คุมเปี่ยมด้วยความปีติยินดีเพราะเขาเชื่อในพระเจ้า – เขาและทุกคนในครัวเรือนของเขา” ผู้คุมไม่เพียงเชื่อคนเดียวเท่านั้น ดังที่ระบุโดยวลีที่ว่า “เขาเชื่อในพระเจ้า” มีข้อความระบุด้วยว่า “เขาและทุกคนในครัวเรือนของเขา” เชื่อ!
ดังนั้น อีกครั้งหนึ่ง เรามีหลักฐานของการบัพติศมาหลังจากที่เชื่อในข่าวประเสริฐ! ที่น่าสนใจคือ สองสามข้อก่อนหน้านี้ เราได้รับการบอกกล่าวว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นตอน “เที่ยงคืน” [กิจการ 16:25]! พวกเขารับบัพติศมาในตอนกลางดึก! แต่นั่นไม่สำคัญสำหรับเปาโลหรือครัวเรือนของผู้คุม ผู้เชื่อที่แท้จริง ต้องการ ตอบสนองต่อพระบัญญัติของพระเจ้าเสมอ และต้องไม่ล่าช้าด้วย!
5. การรับบัพติศมาที่เมืองเอเฟซัส
กิจการ 19:1-7 กล่าวถึงเรื่องการรับบัพติศมาครั้งสุดท้ายที่บันทึกไว้ในหนังสือกิจการคือที่เมืองเอเฟซัส เปาโลได้เทศนาให้กลุ่มชายที่เป็นผู้ติดตามยอห์นผู้ให้บัพติศมาฟัง เมื่อได้ยินข่าวสารแห่งความรอดที่ต้องรับผ่านทางพระเยซูคริสต์ พวกเขาตอบสนองและแสดงออกถึงความเชื่อฟังโดยการรับบัพติศมาในน้ำ – “เมื่อได้ยิน [ข่าวสารแห่งความรอดที่จะมีได้โดยผ่านทางพระเยซู] พวกเขาจึงรับบัพติศมาในพระนามของพระเยซูเจ้า” [กิจการ 19:5]
แม้ว่าข้อพระคัมภีร์อาจไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าพวกเขายอมรับพระกิตติคุณ แต่ความจริงที่พวกเขาได้รับสารนั้นก็มีนัยสำคัญอยู่ในวลี “เมื่อได้ยินสิ่งนี้” ดังนั้น การรับบัพติศมาจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ผู้คนได้ยินและยอมรับพระกิตติคุณ
จากตัวอย่างทั้ง 5 ข้างต้น เห็นชัดเจนว่าการรับบัพติศมาเกิดขึ้น ตามหลัง จากการยอมรับพระกิตติคุณอย่างแท้จริง แม้ว่าการบัพติศมาจะไม่ช่วยให้ใครรอดได้ แต่ก็ต้องเกิดขึ้นหลังจากมีการรับเชื่อรับความรอดอย่างแท้จริง! ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างการรับบัพติศมาในน้ำกับความรอดจึงเป็นเช่นนี้
6. การให้บัพติศมาทารก
พันธสัญญาใหม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าคนๆ หนึ่งต้องกลับใจและเชื่อในพระคริสต์อย่างเป็นส่วนตัวก่อนจะรับบัพติศมา การรับบัพติศมาของทารกไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ จึงไม่เป็นไปตามพระคัมภีร์ ทารกจะกลับใจและเชื่อได้อย่างไร? ในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุแม้แต่พระบัญญัติเดียวที่ให้ทารกรับบัพติศมา หรือมีบันทึกเหตุการณ์ใดที่เกี่ยวกับการให้ทารกรับบัพติศมาเลย
บางคนตีความการบัพติศมาทารกในพันธสัญญาใหม่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าอยู่ในครอบครัวแห่งพันธสัญญา เช่นเดียวกับการเข้าสุหนัตในพันธสัญญาเดิม ปัญหาเดียวของมุมมองดังกล่าวคือ พระคัมภีร์ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้
ในทางกลับกัน พระคัมภีร์กล่าวอย่างชัดเจนว่าการบัพติศมาในน้ำมีไว้สำหรับผู้ที่เข้าใจและยอมรับพระกิตติคุณโดยการกลับใจจากบาปของตนและวางใจในพระเจ้าเยซูคริสต์เพื่อให้อภัยบาปของตนเท่านั้น และหลังจากทำเช่นนั้นแล้ว การรับบัพติศมาในน้ำโดยการจุ่มตัวลงมิดในน้ำเป็นคำสั่งแรกที่คนๆ นั้นต้องปฏิบัติตาม และควรทำโดยไม่ชักช้า! นั่นคือหลักฐานที่ล้นหลามจากพระคัมภีร์ ซึ่งเราได้เห็นในบทความนี้
ความคิดเห็นตอนท้าย
ผมหวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจความสำคัญของการรับบัพติศมาในน้ำ ซาตานต้องการสร้างความสับสนให้กับประเด็นง่ายๆ นี้ ทำไมน่ะหรือ? เพราะตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตคริสเตียน ซาตานต้องการให้ผู้เชื่อไม่เชื่อฟัง หากซาตานไม่สามารถขวางเราให้รับความรอดได้ ซาตานก็จะทำให้ผู้เชื่ออ่อนแอลงโดยล่อลวงพวกเขาไม่ให้เชื่อฟังพระเจ้าในพระราชบัญญัติข้อแรกและสำคัญที่สุดนี้ และหากซาตานสามารถทำให้ผู้เชื่อไม่เชื่อฟังในเรื่องนี้ ซาตานสามารถทำให้ผู้เชื่อไม่เชื่อฟังในข้ออื่นๆ ได้อย่างง่ายดายเช่นกัน! นั่นคือกลลวงของมัน!
นอกจากนี้ การรับบัพติศมาเป็นการทดสอบที่ดีเพื่อดูว่าผู้เชื่อใหม่เต็มใจที่จะยอมลงทุนในการติดตามพระเยซูหรือไม่ หากคนนั้นปฏิเสธที่จะประกาศต่อที่สาธารณะว่า “พระเยซูเป็นพระเจ้า” โดยการรับบัพติศมาในน้ำ ก็มีความเป็นไปได้ที่คนนั้นไม่ได้กลับใจและหันเข้าหาพระเยซูอย่างแท้จริง ดังนั้น การรับบัพติศมาจึงถือได้ว่าเป็นบททดสอบที่ดีเยี่ยมเพื่อดูว่าใจของเขาได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เป็นคริสเตียนแท้ บังเกิดใหม่จริงและหันจากบาปมาหาพระเยซูเพียงผู้เดียวสำหรับความรอดหรือไม่
บางคนที่รับบัพติศมาในช่วงต้นๆ ของชีวิต มีช่วงที่พวกเขาต้องคิดหนักเพื่อให้รู้ว่าตัวเองได้กลับใจและเชื่อในพระเยซูอย่างแท้จริงหรือไม่ก่อนที่จะรับบัพติศมาตอนนั้น นี่เป็นการต่อสู้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เกิดและเติบโตในครอบครัวคริสเตียน พวกเขารู้ว่าตอนนี้พวกเขาเชื่อในพระคริสต์ พระองค์เป็นพระเจ้าในชีวิตของพวกเขา และพวกเขาเป็นของพระองค์
อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่แน่ใจว่าการกลับใจและความเชื่อของพวกเขาแท้จริงแล้วเป็นเช่นไรในช่วงเวลาที่รับบัพติศมาในครั้งก่อน เหตุผลนั้นไม่แน่นอน อาจมาจากการใช้ชีวิตที่อยู่บาปมาหลายปี แต่ตอนนี้พวกเขากำลังเดินอยู่ในทางของพระเยซู แทนที่จะเรียกการไม่เชื่อฟังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า “การเสื่อมถอยในความเชื่อ” ผมขอแนะนำให้บุคคลดังกล่าวประเมินการรับบัพติศมาในครั้งก่อนของพวกเขาคือ อาจเป็นไปได้ว่าคุณไม่ได้รับความรอดอย่างแท้จริงก่อนการรับบัพติศมาครั้งก่อน อาจเป็นการตัดสินใจด้วยอารมณ์หรือการตัดสินใจที่เกิดจากแรงกดดันจากครอบครัว, คริสตจักร, หรือการเห็นเพื่อนคนอื่นรับบัพติศมา เป็นต้น
คำถามในกรณีนี้ก็คือ: แล้วฉันควรรับบัพติศมาอีกครั้งหรือไม่? คำตอบคือ “หากคุณยังไม่ได้รับบัพติศมาตามแบบบัพติศมาของพันธสัญญาใหม่ ซึ่งก็คือการสารภาพความสำนึกผิดและเชื่อในพระคริสต์อย่างแท้จริงแล้วละก้อ คุณต้องรับบัพติศมาอีกครั้ง และเป็นบัพติศมาโดยการจุ่มตัวมิดลงในน้ำ บัพติศมาครั้งก่อนของคุณ แม้ว่าจะจุ่มตัวมิดลงในน้ำหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีความหมายอะไร
คุณเห็นไหมว่า บัพติศมาในน้ำไม่ใช่กระบวนการทำเล่นๆ ไม่ใช่เป็นเพียงการจุ่มตัวลงในน้ำ บัพติศมาในน้ำสามารถถือเป็นศาสนกิจ/ธรรมเนียมได้ แต่อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่เจตนาของพระเจ้าของเราที่จะสถาปนาพระบัญญัติศักดิ์สิทธิ์นี้ขึ้น พระบัญญัติทุกประการของพระเจ้าจะต้องปฏิบัติตามด้วยใจที่ยินดี ไม่ใช่ด้วยความลังเล เป็นการดีที่จะจำพระดำรัสของพระเจ้าที่ตรัสกับซามูเอลใน 1 ซามูเอล 16:7 ที่ว่า “มนุษย์ดูที่รูปลักษณ์ภายนอก แต่พระเจ้าดูที่จิตใจ” เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รู้ว่าพระเจ้าดูที่จิตใจ แต่ก็เป็นความคิดที่น่ากลัวเช่นกันที่รู้ว่าพระองค์ทรงทราบเจตนาของใจเรา [วิวรณ์ 2:23]
หากความเชื่อของเราเป็นของแท้ การกลับใจของเราก็จะเป็นของแท้เช่นกัน การกลับใจที่ไม่แท้คือกลับใจเพียงเพราะกลัวผลของบาป ในขณะที่การกลับใจอย่างแท้จริงคือกลัวบาปนั้นเอง การกลับใจที่แท้จริงก็เกลียดบาปในสิ่งที่มันเป็น – มันเป็นความผิดที่ต่อต้านพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ การรู้ว่าบาปเป็นสิ่งชั่วร้าย และพระเจ้าเกลียดบาปนั้น เป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่กลับใจอย่างแท้จริงละทิ้งบาป การกลับใจที่แท้จริงจึงละทิ้งบาปและอุทิศตนต่อพระเยซูอย่างสุดจิตสุดใจ
ในตอนท้ายนี้ ผมขอยกข้อพระคัมภีร์สองข้อจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเองมาพิจารณาเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญนี้:
ลูกา 6:46 “เหตุไฉนท่านทั้งหลายจึงเรียกเราว่า ‘พระองค์เจ้าข้า พระองค์เจ้าข้า’ แต่ไม่กระทำตามที่เราบอกนั้น”
มัทธิว 10:32-33 “32 เหตุดังนั้นผู้ใดจะรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะรับผู้นั้นต่อพระพักตร์พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ด้วย 33 แต่ผู้ใดจะปฏิเสธเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะปฏิเสธผู้นั้นต่อพระพักตร์พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ด้วย”
คำพูดเหล่านี้ทรงพลังและลึกซึ้งจากริมฝีปากของพระเยซูเจ้าเอง ผมขอหนุนใจให้พวกเราทุกคนทำตามตัวอย่างของผู้ประพันธ์บทเพลงสดุดีที่กล่าวไว้ในสดุดี 119:60 ว่า “ข้าพระองค์เร่งรีบไม่ล่าช้าที่จะรักษาพระบัญญัติของพระองค์”
ท่านผู้อ่านที่รัก หากคุณต้องรับบัพติศมาให้ถูกต้องตามแบบพระคัมภีร์ – อย่าชักช้า ไม่มีข้อพระคัมภีร์หรือเหตุการณ์ในพันธสัญญาใหม่ใดที่แสดงว่ามีผู้เชื่อคนใดชักช้าหรือรอที่จะรับบัพติศมา มันเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำและสนับสนุนให้ทำทันที
จำไว้ว่าหลักฐานที่พิสูจน์การกลับใจอย่างแท้จริงคือการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า ไม่เพียงแต่ในประเด็นของการรับบัพติศมาเท่านั้น แต่ในทุกด้านของชีวิต และบัพติศมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี! จำไว้ว่า: การรับบัพติศมาในน้ำหลังจากการกลับใจอย่างแท้จริงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นพระบัญญัติที่ต้องเชื่อฟังโดยไม่ชักช้า!
อย่าปล่อยให้ความเย่อหยิ่ง [คนอื่นจะคิดอย่างไรหากฉันรับบัพติศมาตอนนี้หลังจากที่รับเชื่อมานานแล้ว], ความกลัว [ครอบครัวของฉันจะพูดหรือทำอะไร], หรือเหตุผลอื่นใดมาขัดขวางคุณจากการเชื่อฟังพระเยซู จงทำสิ่งเหล่านี้เพื่อเอาใจพระเจ้าเยซูและพระองค์เท่านั้น! จงเชื่อฟังพระองค์เพราะคุณรักพระองค์ พระองค์คือผู้ที่มาแทนที่คุณบนไม้กางเขนเพื่อปลดปล่อยคุณจากนรกชั่วนิรันดร์ พระองค์สมควรได้รับการเชื่อฟังด้วยความยินดี เต็มใจ และทันท่วงทีจากคุณ!
และขอพระเจ้าผู้แสนดีทรงให้เราทุกคนดำเนินตามพระบัญญัติของพระองค์ทุกประการ เพราะว่า “ทุกคนที่เกรงกลัวพระเยโฮวาห์ก็เป็นสุข คือผู้ที่ดำเนินในมรรคาของพระองค์” [สดุดี 128:1]