ความเข้าใจผิด 3 ประการเกี่ยวกับความพอใจ

(English Version: “3 Misconceptions Concerning Contentment”)
เด็กสาวคนหนึ่งมีคุณพ่อเป็นคนขี้บ่นตลอดเวลาได้พูดกับแม่ของเธอว่า “หนูรู้ว่าทุกคนในครอบครัวนี้ชอบอะไร จอห์นนี่ชอบแฮมเบอร์เกอร์ เจนนี่ชอบไอศกรีม วิลลี่ชอบกล้วย และแม่ชอบไก่” พ่อของเธอถามด้วยความหงุดหงิดที่ตัวเองไม่อยู่ในรายชื่อ จึงถามว่า “แล้วพ่อล่ะ! พ่อชอบอะไร” เด็กน้อยไร้เดียงสาตอบว่า “พ่อชอบทุกอย่างที่พวกเราไม่มีค่ะ” แม้ว่าเราอาจขำกับคำพูดนี้ แต่ถ้าเราซื่อสัตย์กับตัวเอง พวกเราหลายคน – แม้แต่ที่เป็นคริสเตียน – ก็เป็นเหมือนกับคุณพ่อรายนี้ ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะมีความเข้าใจผิดหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องความพอใจ บทความนี้พยายามเน้นถึงความเข้าใจผิดทั่วไป 3 ประการที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้และมีคำตอบจากพระคัมภีร์สำหรับแต่ละประเด็น
ความเข้าใจผิด # 1 ความพอใจไม่ใช่ปัญหาใหญ่
โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะมองว่าการแสดงความไม่พอใจต่อสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในชีวิตเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทั่วไปของมนุษย์ปกติ ท้ายที่สุดแล้ว ‘ฉันก็เป็นมนุษย์ ฉันต้องระบายออกมาบ้างเป็นครั้งคราว’
คำตอบจากพระคัมภีร์: อย่างไรก็ตาม หากพระเจ้ามองว่าความไม่พอใจเป็นปฏิกิริยาที่ “ปกติ” เหตุใดพระองค์จึงทรงมีคำสั่งสอนมากมายให้เราระวัง? เช่น คำสั่งต่อไปนี้เกี่ยวกับความจำเป็นในการมีความพอใจ – “จงพอใจในค่าจ้างของตน” [ลก. 3:14], “จงพอใจกับสิ่งที่ท่านมี” [ฮบ. 13:5] และ “จงระวังความโลภทุกประเภท” [ลก. 12:15] ในฐานะคริสเตียน เรายอมรับว่าการไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าข้อใดข้อหนึ่งนั้นเป็นบาป และเนื่องจากเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรถือว่าการที่ไม่แสวงหาความพอใจเป็นบาปเช่นกันหรอกหรือ? ดังนั้น การแสวงหาความพอใจจึงเป็นเรื่องใหญ่ มันไม่ใช่ปัญหาที่เราสามารถกวาดไว้ใต้พรมได้
หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะเผยให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเหตุใดพระเจ้าจึงเรียกความไม่พอใจว่าเป็นบาป มีเหตุผล 2 ประการที่ผุดขึ้นในใจ
1. ความไม่พอใจเป็นการโจมตีต่ออำนาจสูงสุดของพระเจ้า การแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเราถือเป็นการตั้งคำถามถึงสิทธิของพระเจ้าที่จะทำสิ่งใดๆ ในชีวิตเรา ผู้ถูกสร้างที่ตั้งคำถามถึงการกระทำของพระผู้สร้างนั้นถือเป็นบาปเสมอ
2. ความไม่พอใจเป็นการโจมตีต่อความดีของพระเจ้า เมื่อเราแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต สิ่งที่เรากำลังพูด [แม้จะไม่ใช่ด้วยคำพูด แต่ด้วยท่าที] เช่น: “พระเจ้า พระองค์ไม่ได้ดีต่อลูกในสถานการณ์นี้เลย ถ้าพระองค์ดีจริงและเปี่ยมด้วยความรัก ทำไมพระองค์จึงไม่ให้สิ่งที่ลูกขอหรือเอาสิ่งที่ลูกไม่ชอบออกไปจากชีวิตของลูกล่ะ” แม้ว่าการร้องทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อการช่วยเหลือจากการทดลองจะไม่ใช่บาป แต่การตั้งคำถามถึงความดีของพระเจ้านั้นเป็นบาป
หมายเหตุ: การไม่พอใจในชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเรายังไม่เป็นตามที่ควรจะเป็นในฐานะลูกของพระเจ้า กล่าวอีกนัยหนึ่ง จงพอใจกับสิ่งที่คุณมี แต่อย่าพอใจกับสิ่งที่คุณเป็นฝ่ายจิตวิญญาณ การไม่พอใจเมื่อเราเห็นบาปที่แพร่หลายรอบตัวเราและเห็นว่าพระนามของพระเยซูถูกดูหมิ่นก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน การไม่พอใจในเรื่องแบบนี้ไม่ใช่บาปและควรเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติของคริสเตียน
ความเข้าใจผิด # 2 ความพอใจขึ้นอยู่กับสถานการณ์
เรามักคิดว่าชีวิตจะดีขึ้นกว่าเดิมหากสถานการณ์ในปัจจุบันของเราเปลี่ยนไป หากเราเป็นโสด เราก็อยากแต่งงาน หากแต่งงานแล้ว เราก็อยากเป็นโสด; หากไม่มีลูก เราก็อยากมีลูก หากเรามีลูก เราก็อยากมีลูกอย่างละคน [ชายและหญิง] และเมื่อเรามีลูก เราก็อยากมีลูกที่ดีกว่านี้ รายการยังยาวไปได้อีก…ดูเหมือนจะเป็นเสียงร้องของหัวใจที่ดังก้องอยู่อย่างไม่หยุดหย่อนว่า “สภาพใดๆ ก็จะดีกว่าสภาพปัจจุบันของเรา” คำพูดที่น่าสนใจที่แสดงความจริงของข้อนี้ได้ดีคือ “โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์เป็นพวกเขลา เมื่ออากาศร้อน เขาต้องการอากาศเย็น และเมื่ออากาศเย็น เขาต้องการอากาศร้อน มนุษย์มักต้องการในสิ่งที่ไม่มีเสมอ” ฟังดูแล้วคุ้นๆ ไหม?
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่อิจฉาเพื่อนๆ ของเขา เพราะว่าพวกเพื่อนมีบ้านที่ใหญ่และหรูกว่า เขาจึงนำบ้านของเขาไปลงขายกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อวางแผนขายและซื้อบ้านใหม่ที่ดีกว่า ไม่นานหลังจากนั้น ขณะที่เขากำลังอ่านโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เขาก็เห็นประกาศขายบ้านหลังหนึ่งมีรายละเอียดที่ดูเหมาะดี เขาจึงรีบโทรหาตัวแทนขายบ้านและบอกว่า “บ้านที่ลงไว้ในหนังสือพิมพ์วันนี้เป็นบ้านที่ผมกำลังมองหาพอดี ผมอยากไปดูให้เร็วที่สุด!” ตัวแทนขายบ้านถามเขาหลายคำถามเกี่ยวกับบ้านหลังนั้น จากนั้นก็ตอบว่า “แต่คุณครับ นั่นคือบ้านของคุณเองที่คุณกำลังประกาศขายอยู่!”
คำตอบจากพระคัมภีร์: จำอาดัมกับเอวาได้ไหม พวกเขาอาศัยอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แบบเท่าที่จะจินตนาการได้ พวกเขามีทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลที่พวกเขาสามารถครอบครองได้ ยกเว้นต้นไม้ต้นเดียว [ปฐมกาล 1:28, 2:15-16] พระเจ้าทรงประทานสิ่งดี ๆ มากมายให้พวกเขาอย่างเหลือเฟื้อ แต่กระนั้น ให้สังเกตว่าซาตานล่อลวงพวกเขาให้ไม่พอใจอย่างไร “จริงหรือที่พระเจ้าตรัสว่า ‘เจ้าอย่ากินผลจากต้นไม้ทุกชนิดในสวนนี้’?” [ปฐมกาล 3:1] คำถามแรกในพระคัมภีร์ที่บันทึกไว้สำหรับเรามาจากปากของซาตาน และเป็นคำถามที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความสงสัยในพระวจนะของพระเจ้า มันตั้งคำถามเกี่ยวกับความดีงามของพระองค์
สิ่งที่ซาตานต้องการสื่อคือ: “ถ้างั้น พวกเจ้าไม่ได้มีทุกสิ่งในจักรวาลจริงๆ หรอก พระเจ้าหวงสิ่งที่ดีไว้ใช่ไหม? พระองค์ขโมยความยินดี ความสุข และความอิ่มเอมจากพวกเจ้าไปหรือไม่?” เป้าหมายของซาตานคือให้พวกเขาละสายตาจากสิ่งที่พวกเขามี [ซึ่งก็คือเกือบทุกอย่าง] และมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่พวกเขาไม่มี [ซึ่งก็คือผลจากต้นไม้เพียงต้นเดียว] นั่นคือต้นตอของความไม่พอใจทั้งหมด – การมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เราไม่มีมากกว่าสิ่งที่เรามี!
น่าเศร้าที่ทั้งอาดัมและเอวาต่างก็ตกอยู่ภายใต้คำโกหกที่ออกมาจากปากของซาตาน – คำโกหกที่ว่าคุณจะมีความสุขมากขึ้นหากสถานการณ์ของคุณเปลี่ยนไป! ผลลัพธ์คือ แทนที่จะมีความสุข พวกเขากลับพบกับความทุกข์ระทม – เหมือนกับที่พระเจ้าสัญญาไว้ว่ามันจะเกิดขึ้น – ซึ่งนี่พิสูจน์ว่าพระวจนะของพระเจ้านั้นเหนือกว่าคำสัญญาเท็จที่บาปและซาตานเสนอให้เราเสมอ
ให้เรามาเรียนรู้บทเรียนสำคัญนี้กันเถอะ – หากอาดัมและเอวายังรู้สึกไม่พอใจต่อสถานการณ์นี้ในขณะที่พวกเขามีแทบเกือบจะทุกอย่างในจักรวาลนี้แล้วล่ะก้อ เราเองก็จงระวังความคิดผิดๆ ที่ว่า “ฉันจะพอใจก็ต่อเมื่อฉันมีสิ่งที่ฉันยังไม่มีในขณะนี้เท่านั้น” นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรขอพระเจ้าอยู่เสมอว่า “ขอทรงหันนัยน์ตาของข้าพระองค์ไปจากการมองดูสิ่งอนิจจัง” [สดุดี 119:37]
เราต้องตระหนักว่าความพอใจที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายนอก แต่หากมาจากการมีชีวิตที่บริสุทธิ์ตามพระเจ้าเป็นลำดับความสำคัญที่หนึ่ง และให้เรื่องฝ่ายจิตวิญญาณเป็นมุมมองหลักของเรา ใน 1 ทิโมธี 6:6 กล่าวว่า “แต่ว่าทางของพระเจ้าพร้อมทั้งความสุขใจก็เป็นกำไรมาก” ทางของพระเจ้าทุกประการเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับพระองค์ผ่านทางพระเยซูคริสต์ ดังนั้น หากคุณยังไม่ได้ทำเช่นนั้น จงมาหาพระคริสต์ด้วยการกลับใจและเชื่อ จงโอบรับพระองค์ให้เป็นความพึงพอใจของคุณ
ความเข้าใจผิด # 3 ความพอใจเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติกับคริสเตียน
เมื่อเราเป็นคริสเตียน เราจะเริ่มเกลียดสิ่งต่างๆ ของโลกทันทีและพบความพอใจทั้งหมดในพระคริสต์ เราจะไม่ยอมแพ้ต่อความต้องการของเนื้อหนังที่เป็นบาปอีกต่อไป
คำตอบจากพระคัมภีร์: ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นจริงเหลือเกิน! ใช่แล้ว การเป็นผู้เชื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในนิสัยของเรา แต่อย่างไรก็ตาม การยอมจำนนต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์และปฏิเสธความต้องการของเนื้อหนังที่บาปอย่างต่อเนื่องนั้น มันเป็นการต่อสู้ตลอดชีวิต มิใช่หรือ? มาดูตัวอย่างของอัครสาวกเปาโลกัน ขณะที่เขียนจดหมายถึงชาวฟีลิปปีนั้น เปาโลกำลังถูกคุมขังอยู่ในกรุงโรม เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะพอใจไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม” [ฟป. 4:11] คุณเห็นไหม? เปาโลต้องเรียนรู้ที่จะพอใจ เขาพูดซ้ำถึงความคิดแบบเดียวกันในข้อถัดไปว่า “ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเผชิญกับความตกต่ำ และรู้จักที่จะเผชิญกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าที่ไหนหรือในกรณีใดๆ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะเผชิญกับความอิ่มท้องและความอดอยาก ทั้งความสมบูรณ์พูนสุขและความขัดสน” [ฟป. 4:12] สองครั้งในสองข้อ เขาพูดถึงการเรียนรู้ที่จะพอใจถึงสองครั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความพอใจไม่ได้มาอย่างเป็นธรรมชาติสำหรับเปาโล – แม้ว่าเขาจะกลับใจใหม่มาหาพระคริสต์อย่างน่าทึ่งแล้วก็ตาม!
สิ่งนี้ทำให้เรามีความหวังบ้าง! ความพอใจไม่ได้มีมาโดยธรรมชาติ – แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ มันเป็นกระบวนการ และเราก็เป็นเหมือนกับเปาโล – คือได้รับการเสริมกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งใช้พระวจนะของพระเจ้าและการอธิษฐานอย่างขยันขันแข็ง เราสามารถทุ่มเทความพยายามที่จำเป็นเพื่อเรียนรู้เคล็ดลับในการพอใจได้
คำภาษากรีกสำหรับ “ความพอใจ” ที่เปาโลใช้ในฟีลิปปี 4:11 ซึ่งเขาอ้างถึงวิธีที่เขา “เรียนรู้ที่จะพอใจ” หมายถึงการ “พึ่งพาตนเอง” หรือ “พอใจ” ทางโลกในสมัยนั้นใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงบุคคลที่ยอมรับแรงกดดันในชีวิตทั้งหมดอย่างสงบ โดยยึดเอาความแข็งแกร่งภายในของมนุษย์เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพลังภายนอกใดๆ แต่ในทางตรงกันข้าม เปาโลระบุว่าความพอใจของเขามาจากพระคริสต์ ผู้ทรงจัดเตรียมทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้เชื่อทุกคนเพื่อให้พอใจในทุกเวลา
ถ้าเราถามเปาโลว่า “ท่านเรียนรู้เคล็ดลับที่จะมีความพอใจเช่นนี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ใดๆ ก็ตามท่านทำได้อย่างไร?” คำตอบของเขาน่าจะเป็นประมาณนี้ “ความพอใจของข้าพเจ้ามาจากพระคริสต์ผู้ทรงจัดเตรียมสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการเพื่อให้ข้าพเจ้าพอใจ” ข้อพระคัมภีร์ถัดไปให้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น
สังเกตคำพูดของเปาโลในฟีลิปปี 4:13 ที่ว่า “ข้าพเจ้าเผชิญทุกสิ่งได้โดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” คำแปลบางฉบับแปลว่า “ข้าพเจ้าทำได้ทุกสิ่งโดยพระคริสต์หรือโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” น่าเสียดายที่ข้อพระคัมภีร์ข้อนี้ถูกตีความหมายผิดอย่างร้ายแรงว่าบุคคลสามารถทำสิ่งใดก็ได้ที่ตั้งใจจะทำหากเขามีความเชื่อในพระคริสต์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ข้อพระคัมภีร์ข้อนี้สอนเลย บริบททั้งหมดของฟีลิปปี 4:10-19 เป็นเรื่องของความพอใจ เปาโลกล่าวว่าความลับในการดำเนินชีวิตด้วยความพอใจไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของเขาซึ่งมาจากพระคริสต์ผู้ทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นทั้งหมดสำหรับเขา [และเรา] เพื่อให้มีความพอใจได้ตลอดเวลา
ดังนั้น ในความหมายของคริสเตียน “ความพอใจคือการพอใจอย่างสมบูรณ์เพราะมีพระคริสต์” นั่นคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้หากเราพยายามที่จะมีความพอใจ เพราะเรามีพระคริสต์ – เรามีทุกสิ่งสำหรับชีวิตนี้และชีวิตที่จะมาถึง หากเราไม่ได้มีพระคริสต์ – เราไม่มีอะไรเลย – ถึงแม้ว่าเราจะมีสิ่งของทางวัตถุมากมายก็ตาม
ความคิดเห็นตอนท้าย
ในฐานะคริสเตียน เรามักจะคุกเข่าขอบคุณพระเจ้าที่ทรงช่วยคนบาปที่ไม่คู่ควรเช่นเรา ผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่สิ่งชั่วร้าย แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คำอธิษฐานจะจบ เราก็บอกพระเจ้าว่าขอพระองค์ทรงแก้ไขปรับปรุงสิ่งนั้นสิ่งนี้ในชีวิตเรา – และเมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาขึ้น เรามักจะคิดว่า “ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นกับฉัน ทั้งๆ ที่ฉันซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ทำไมคนอื่นที่บาปมากกว่าฉันถึงได้รับแต่สิ่งดีๆ ทั้งหมด และทำไมฉันจึงจบลงด้วยปัญหาหรือความฝันที่ไม่เป็นจริง” เรามีแนวโน้มคาดหวัง [บางครั้งถึงกับเรียกร้องสิทธิ์] ว่าต้องได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง แม้เราจะบอกตัวเองว่าเป็นคนบาปและไม่คู่ควรที่จะได้รับสิ่งดีใดๆ ก็ตาม เรามองเห็นความหน้าซื่อใจคดในตัวเราเองหรือไม่?
1 ทิโมธี 6:8 บอกว่า “แต่ถ้าเรามีอาหารและเสื้อผ้า ก็ให้เราพอใจด้วยของเหล่านั้นเถิด” และฟีลิปปี 4:19 บอกว่า “และพระเจ้าของข้าพเจ้าจะประทานสิ่งสารพัดตามที่ท่านต้องการนั้นจากทรัพย์อันรุ่งเรืองของพระองค์โดยพระเยซูคริสต์” จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ เราสามารถสรุปได้ว่าพระเจ้าจะดูแลความจำเป็นทั้งหมดของเราเสมอ [ไม่ใช่ตามความอยากได้หรือคำสั่งของเรา] จงมองชีวิตด้วยการเตือนใจอยู่เสมอว่าเราไม่สมควรได้รับสิ่งที่ดี แต่พระเจ้ายังทรงจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นทั้งหมดให้เราอยู่เสมอจะช่วยให้เราพอใจได้ มุมมองเช่นนี้ยังช่วยขจัดความเย่อหยิ่งของเรา [ซึ่งเป็นเรื่องดี] อีกด้วย
ผู้เชื่อที่รัก บางทีคุณอาจทุกข์ทรมานทางร่างกายและอาจไม่เคยได้รับการรักษาใดๆ เลย; คุณยากจนไม่มีเงินและอาจไม่เคยมีอะไรมากมายในชีวิต; คุณไม่ได้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน และอาจไม่เคยถูกเลื่อนตำแหน่งเลย; คุณเป็นโสดและอาจจะโสดตลอดชีวิต; คุณเป็นพ่อแม่ของลูกที่ป่วยและเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะต้องดูแลลูกไปตลอดชีวิต; คุณอยู่ในครอบครัวที่ยากลำบากซึ่งคู่สมรสและลูกๆ ของคุณอาจไม่เคยรักคุณ แม้จะเป็นเช่นนั้น คุณเต็มใจที่จะพูดว่า “ข้าแต่พระเจ้า ลูกเต็มใจที่จะรับและพอใจอย่างเต็มใจกับทุกสิ่งที่พระองค์ประทานหรือทรงไม่ประทานให้ ลูกไม่ต้องการทำให้พระองค์เสียพระทัยเพราะความไม่พอใจของลูก โปรดช่วยให้ลูกถวายเกียรติแด่พระนามของพระองค์ในทุกสถานการณ์ที่พระองค์ทรงประทานให้ลูกด้วยความรัก” นั่นคือแก่นแท้ของความพอใจที่แท้จริง!
ให้เราเรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งที่เป็นไปในชีวิตด้วยความยินดี การคิดวนเวียนกับแต่แง่ลบในชีวิตของเราอย่างต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ไฟแห่งความไม่พอใจลุกโชนขึ้น บางครั้งเรามัวแต่หมกมุ่นคิดอยู่กับปัญหาจนลืมนับพระพรที่เรามี วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการขจัดความไม่พอใจและปลูกฝังความพอใจคือการใช้หลักคำสอนในฟีลิปปี 4:8, “พี่น้องทั้งหลาย ในที่สุดนี้ สิ่งใดที่จริง สิ่งใดที่น่านับถือ สิ่งใดที่ยุติธรรม สิ่งใดที่บริสุทธิ์ สิ่งใดที่น่ารัก สิ่งใดที่น่าฟัง – คือถ้ามีสิ่งใดที่ล้ำเลิศ สิ่งใดที่ควรแก่การสรรเสริญ – ก็ขอจงใคร่ครวญดูสิ่งเหล่านี้” คริสเตียนที่ไตร่ตรองถึงความสัมพันธ์ของตนกับพระเยซู และสิ่งต่างๆ ที่พระคัมภีร์นิยามว่าเป็นความจริง น่านับถือ ถูกต้อง และบริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง จะไม่เพียงแค่พบกับความพอใจอย่างแท้จริง แต่จะสัมผัสถึงการสถิตอยู่ของพระเจ้าผู้ประทานสันติสุขแก่จิตวิญญาณอย่างแท้จริงด้วย [ฟีลิปปี 4:7, 9]
เราต้องจำไว้ว่าพระเจ้าไม่เคยทำหรือยอมให้สิ่งใดในชีวิตของเราทำให้เราตกต่ำ แต่สิ่งต่างๆ นั้นเพื่อจะนำพระสิริสู่พระองค์และเพื่อประโยชน์สูงสุดของเรา ใช่! เราไม่ค่อยเข้าใจความลึกลับซับซ้อนของชีวิต และในความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจ – เราต้องตระหนักว่าพระเจ้าของเราทรงเป็นใหญ่เหนือเรื่องราวในชีวิตของเราทั้งหมด และพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่แสนดี พระองค์ทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา เราเพียงแค่ต้องพักผ่อน/พึ่งพิงในพระองค์ หากเรายอมรับความจริงเหล่านี้ด้วยใจจริง ลองนึกภาพว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร – เราจะสงบอยู่ด้วยความรู้สึกพึงพอใจเสมอ!
เอเฟซัส 1:3 กล่าวว่าเราได้รับพระพร “…ผู้ทรงโปรดประทานพระพรฝ่ายวิญญาณแก่เราทุกๆประการในสวรรคสถานโดยพระคริสต์” และโคโลสี 2:10 กล่าวว่า “ในพระคริสต์ [เรา] ได้รับความครบสมบูรณ์” ไม่ว่าโลกจะพูดว่าเราเป็นอย่างไร หรือเรามีหรือไม่มีสิ่งใด พระเจ้าตรัสว่าเราได้รับพระพรและมีครบสมบูรณ์อย่างยิ่งใหญ่อันเป็นผลจากความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสต์ เราไม่ขาดสิ่งใดในตอนนี้และจะไม่ขาดสิ่งใดในอนาคต พระเจ้าทรงสัญญาว่า “จนกระทั่งเจ้าแก่ เราก็คือพระองค์นั้น เราจะอุ้มเจ้าจนเจ้าถึงผมหงอก เราได้สร้าง เราจะชูไว้ เราจะอุ้มและเราจะช่วยให้พ้น” [อิสยาห์ 46:4] ด้วยคำยืนยันที่งดงามเช่นนี้ เราควรพูดด้วยความยินดีชื่นชมเสมอมิใช่หรือว่า “พระเยโฮวาห์ทรงเป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน” [สดุดี 23:1]