สิ่งหนึ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ทุกอย่าง

(English Version: “The One Thing That Threatens All Relationships”)
คุณเดาได้ไหมว่าอะไรคือภัยคุกคามต่อความสัมพันธ์ทุกอย่าง? ความขมขื่น! มันส่งผลกระทบต่อการแต่งงาน, ต่อคริสตจักร และแทบจะทุกสิ่งทุกอย่าง ความขมขื่นเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่อันตรายที่สุดต่อการดำเนินชีวิตคริสเตียนที่เข้มแข็ง ความขมขื่นนั้นเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายเร็วกว่าไข้หวัด มันกัดกินความมีชีวิตชีวาของชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ มันคือ “มะเร็งของจิตวิญญาณ” และคร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคนทุกปี
อย่างไรก็ตาม โรคระบาดนี้มีวิธีรักษา และการรักษานี้พบได้ในคำที่ไพเราะที่สุดคำหนึ่งในภาษาอังกฤษ นั่นก็คือคำว่า – “ให้อภัย” แม้ว่าคำว่า “ให้อภัย” จะเป็นคำทั่วไป แต่แก่นแท้ของคำนี้อยู่ในส่วนพยางค์แรก คือคำว่า “ให้” การ ให้ อภัย หมายถึงการปลดปล่อยผู้อื่นจากความผิดที่เขาทำกับคุณ หมายความว่าคุณสละสิทธิ์ในการแก้แค้นและหลีกเลี่ยงความรู้สึกขมขื่นในใจ
พระคัมภีร์ไม่เพียง คาดหวัง แต่ยัง สั่ง ให้คริสเตียนให้อภัยแก่ผู้อื่นด้วย พระคัมภีร์ไม่ได้ให้ทางเลือกอื่น ผู้เชื่อถูกเรียกให้ปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดในการให้อภัย เราได้ถูกเรียกร้องให้ให้อภัยเหมือนที่พระเจ้าทรงให้อภัย “จงมีน้ำใจกรุณาต่อกัน ให้อภัยกันและกัน เหมือนอย่างที่พระเจ้าทรงให้อภัยพวกท่านในพระคริสต์” [เอเฟซัส 4:32, ดูโคโลสี 3:13 ด้วย]
แน่นอนว่าการให้อภัยไม่ใช่กระบวนการที่ง่าย ในบางครั้งเราอาจปล้ำสู้กับความคิดเช่น “ไม่มีประโยชน์อะไร เขาจะทำร้ายฉันอีก ฉันไม่ควรให้อภัยเขาตั้งแต่แรกเลย เขาจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง” เราต้องระวังความคิดที่เป็นบาปเช่นนี้! พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะช่วยให้ลูกๆ ของพระองค์ให้อภัยผู้อื่น และมัน “เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะโกหก” [ฮีบรู 6:18] เหตุฉะนั้นเราต้องไม่ยอมแพ้
เราต้องเชื่อว่าพระเจ้ากำลังทรงงานในใจของเราและทำให้เราเข้มแข็งผ่านการทดลองหรือปัญหาเหล่านี้ พระองค์ต้องการสร้างเราขึ้น – ไม่ใช่ทำลายเราลง แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งการแตกหักก็จำเป็นในการสร้างขึ้น เราจะได้รับชัยชนะหากเราอดทนโดยพึ่งพาพลังของพระวิญญาณบริสุทธิ์
เราต้องดิ้นรนแสวงหาการอภัยจากพระเจ้าเพื่อจัดการกับความขมขื่นในใจที่เรากักเก็บมันไว้ นั่นคือขั้นตอนแรกในการเอาชนะบาปนี้ จากนั้นเราต้องขอกำลังจากพระองค์เพื่อให้อภัยผู้ที่ทำร้ายเรา และทุกครั้งที่ความขมขื่นมาเยือนทำให้เรานึกถึงบาปของผู้อื่น เราต้องคิดพิจารณาอย่างหนักหน่วงเรื่องบาปของเราเอง
ครั้งหนึ่งมีคนเขียนไว้ว่า “คนที่มีใจให้อภัยนั้นมีความทรงจำที่ยาวนานเกี่ยวกับบาปของตนเอง แต่มีความทรงจำที่สั้นเกี่ยวกับบาปของผู้อื่น ความทรงจำที่ยาวนานเกี่ยวกับบาปของตนเองนั้นน่าสลดใจ แต่การระลึกถึงนั้นก็ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดีเมื่อใจของพวกเขาพิจารณาถึงอิสรภาพที่ค้นพบของการให้อภัยในพระเยซู ความชื่นชมยินดีเดียวกันนี้จะเติมเต็มใจของพวกเขาเมื่อพวกเขาสามารถให้อภัยผู้อื่นที่ทำบาปต่อพวกเขาได้เช่นเดียวกัน”
ผมจำได้ว่าเคยอ่านเรื่องหญิงคนหนึ่งไปหาศิษยาภิบาลของเธอ เพื่อพูดถึงบาปของสามีเธอคือการดูภาพลามก เธอตักเตือนกับเขาและเป็นผลให้เขากลับใจและขอการอภัยจากเธอ แต่เธอก็ไม่สามารถมองข้ามบาปนั้นได้ จึงไปหาศิษยาภิบาลเพื่ออธิบายว่าเขาชั่วร้ายเพียงใดที่ทำบาปนี้ และเธอคิดจะทิ้งเขาไป หัวใจของเธอขมขื่นต่อสามีของเธอผู้ซึ่งได้กลับใจจากบาปของเขาแล้ว แต่ตัวเธอเองกลับไม่ตระหนักว่าตนยังกักเก็บบาปที่ค้างคาในใจของตัวเองอยู่ นั่นคืออันตรายของบาป!
เรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและคิดถึงถึงบาปของคนอื่น [แม้ว่าพวกเขาจะกลับใจแล้ว] แต่เรากลับตาบอดและลืมบาปของตัวเองไป! นั่นคือเหตุผลที่เราต้องมีสติสัมปชัญญะในการสร้างนิสัยไตร่ตรองบาปของเราแทนที่จะคิดถึงบาปของคนอื่น ไม่มีวิธีอื่นใดในการรักษาใจที่หยิ่งผยอง เห็นแก่ตัว และไม่ยอมให้อภัย!
เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ให้อภัยเป็นคำที่สวยงามเมื่อเราต้องการมัน แต่เป็นคำที่น่าเกลียดเมื่อเราต้องให้กับคนอื่น นักเขียนคนหนึ่งกล่าวไว้ได้ดีว่า: “เราซึ่งเป็นลูกที่หลงผิดที่ได้รับการอภัย แต่จะกลายเป็นพี่ชายที่ถือตนว่าชอบธรรมได้อย่างรวดเร็ว” [คีท มาทิสัน]!
การไม่ยอมให้อภัยเป็นลักษณะนิสัยของผู้ไม่เชื่อพระเจ้า [โรม 1:31, 2 ทิโมธี 3:3] พระคัมภีร์กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าคริสเตียนควรมีจิตใจเมตตาและให้อภัย [1 ยอห์น 3:10, 14-15] หากรูปแบบชีวิตของเราแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่ขมขื่นและไม่ยอมให้อภัย เราจำเป็นต้องตรวจสอบชีวิตของเราอย่างจริงใจ เพื่อดูว่าเราเคยลิ้มรสการให้อภัยบาปของพระเจ้าด้วยตัวเองหรือไม่
โทมัส วัตสันกล่าวว่า “เราไม่จำเป็นต้องขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อดูว่าบาปของเราได้รับการอภัยหรือไม่ ให้เรามองเข้าไปในใจของเราและดูว่าเราสามารถให้อภัยผู้อื่นได้หรือไม่ หากเราทำได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องสงสัยว่าพระเจ้าทรงอภัยให้เราหรือไม่”
ให้เรายืนบนภูเขาแห่งไม้กางเขนและมองดูพระเยซูที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน มีเลือดไหล ฟกช้ำ และถูกแทงเพื่อไถ่บาปของเรา ขณะที่พระองค์ร้องว่า “พระบิดา โปรดยกโทษให้พวกเขา เพราะเขาไม่รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่” [ลก. 23:34] หรือมองดูสเทเฟนขณะที่ถูกขว้างด้วยก้อนหินจนตาย เขาอธิษฐานร้องว่า “พระองค์เจ้าข้า โปรดอย่าทรงถือโทษเขาเพราะบาปนี้!” [กิจการ 7:60] เราจะยังเก็บความขมขื่นไว้ได้หรือ? เราจะยังพูดได้อีกไหมว่า “ฉันจะไม่ยกโทษให้คนนั้น” เราโง่เขลาขนาดนั้นเลยหรือที่คิดว่าเราจะรับการอภัยจากพระเจ้า แต่ไม่ยอมอภัยให้ผู้อื่นและรอดพ้นไปได้ ให้เราถ่อมตัวลง สำนึกผิดอย่างแท้จริง และร้องขอพระคุณของพระเจ้าเพื่อยกโทษให้ผู้อื่น หากไม่เป็นเช่นนั้น เราจะเผชิญกับการตักเตือนที่รุนแรงจากพระเจ้าอย่างแน่นอน
คุณอาจถามว่า “จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้คนไม่กลับใจจากการกระทำของตน? ฉันยังให้อภัยพวกเขาหรือไม่?” คำตอบคือ หากผู้คนไม่กลับใจ เราไม่สามารถควบคุมเขาได้ สิ่งที่เราทำได้คือปกป้องตัวเองจากความขมขื่นและปลูกฝังใจที่พร้อมจะให้อภัยเสมอ หากผู้คนไม่กลับใจ ก็ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงได้
แม้แต่ในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า หากคนบาปไม่กลับใจ เขาหรือเธอก็จะไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้ ประเด็นง่ายๆ ของผมก็คือการปกป้องตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อของความขมขื่น แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่กลับใจก็ตาม พระเจ้าจะจัดการกับบาปของพวกเขา – พระองค์คือผู้พิพากษา ดังนั้น เราไม่ควรตัดสินผู้อื่นด้วยตัวของเราเอง และในเวลาเดียวกัน เราต้องทำดีต่อผู้ที่ทำร้ายเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยยึดตามคำสอนใน โรม 12:17-21 และลูกา 6:27-28
มีใครในชีวิตของคุณบ้างที่คุณไม่เต็มใจให้อภัย? อาจเป็นสามี ภรรยา พ่อแม่ หรือสมาชิกในคริสตจักร ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทำไมคุณไม่ขอให้พระเจ้าช่วยคุณให้อภัยพวกเขาตอนนี้ บอกพระเจ้าว่าคุณเสียใจจริงๆ ที่ได้รู้สึกขมขื่นต่อพวกเขา พระองค์จะช่วยคุณ
จำไว้ว่าเมื่อคุณให้อภัยบุคคลนั้น คุณกำลังทำเพื่อ “เห็นแก่พระคริสต์” – เพื่อจุดประสงค์เดียวในการทำคือให้พระองค์พอพระทัย และการให้อภัยคือคำสัญญาที่จะไม่แก้แค้นและไม่นำบาปในอดีตขึ้นมาพูด – โดยเฉพาะบาปที่ผู้กระทำผิดได้กลับใจแล้ว! การให้อภัยจะช่วยให้คุณหลุดพ้นจากความเจ็บปวดของความขมขื่นวุ่นวายภายใน
ทางเลือกอื่นแทนการให้อภัยคือกระบวนการที่ไม่มีวันสิ้นสุดของความเจ็บปวด ความขมขื่น ความโกรธ ความเคียดแค้น และการทำลายตนเอง มันคุ้มหรือไม่?